พระราชบัญญัติความลับทางการค้า

พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 กฎหมายฉบับนี้ จะให้ความคุ้มครองข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ผู้ที่เป็นเจ้าของความลับทางการค้าจะได้รับความคุ้มครองตลอดไปตราบเท่าที่ความลับทางการค้านั้นยังคงเป็นความลับอยู่

ความลับทางการค้าคืออะไร

ความลับทางการค้า คือ ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไปและมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผู้ควบคุมความลับทางการค้าจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการเก็บความลับทางการค้า ตัวอย่างความลับทางการค้า ได้แก่ สูตรยา สูตรอาหาร สูตรเครื่องดื่ม สูตรเครื่องสำอาง กรรมวิธีการผลิต ข้อมูลการบริหารธุรกิจ รายละเอียดเกี่ยวกับราคาสินค้า บัญชีรายชื่อลูกค้า ฯลฯ

การแจ้งข้อมูลความลับทางการค้าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

เจ้าของความลับทางการค้าสามารถแจ้งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความลับทางการค้าของตนได้ที่ส่วนบริการรับจดทะเบียน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล โดยไม่ต้องเปิดเผยสาระสำคัญต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมฯ จะออกหนังสือรับรองแจ้งข้อมูลให้ไว้เป็นหลักฐาน

ประโยชน์ของการแจ้งข้อมูลก็คือ เจ้าของความลับทางการค้าสามารถนำหนังสือรับรองไปแสดงความประสงค์ต่อธนาคารที่ร่วมโครงการกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอนำความลับทางการค้ามาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อ หรือหลักประกันการชำระหนี้กับธนาคาร

การขอรับบริการข้อมูลความลับทางการค้า

การยื่นคำขอการแจ้งข้อมูล คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง คำขอเพิกถอน คำขอตรวจค้น และคำขออื่นๆ ให้ยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือโดยวิธีอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยใช้แบบคำขอดังต่อไปนี้

  • คำขอแจ้งข้อมูลความลับทางการค้า (ลค. 01)
  • คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลความลับทางการค้า (ลค. 02)
  • คำขอเพิกถอนข้อมูลความลับทางการค้า (ลค. 03)
  • คำขอรับใบแทนหนังสือรับรองความลับทางการค้า (ลค. 04)
  • คำขอตรวจค้นข้อมูลความลับทางการค้า (ลค. 05)

เอกสารที่ต้องยื่นในการแจ้งข้อมูล

  • คำขอแจ้งข้อมูลตามแบบ ลค. 01
  • สำเนาคำขอจำนวน 1 ฉบับ
  • หนังสือยืนยันแสดงความเป็นเจ้าของความลับทางการค้า
  • หนังสือมอบอำนาจติดแสตมป์ 30 บาท พร้อมบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบให้ตัวแทนยื่นคำขอ)
  • เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง(ถ้ามี)

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่แจ้งไว้

เจ้าของความลับทางการค้าอาจยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลความลับทางการค้าที่แจ้งไว้กับกองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยยื่นเอกสารดังต่อไปนี้

  • แบบ ลค.02 ต้องยื่นภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
  • สำเนาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำนวน 1 ฉบับ
  • หนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลความลับทางการค้า
  • สำเนาเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้นๆ จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ

การขอใบแทนหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล

ในกรณีหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลความลับทางการค้าชำรุดในสาระสำคัญหรือสูญหาย เจ้าของความลับทางการค้า อาจขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกใบแทนหนังสือดังกล่าวได้ โดยยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

  • คำขอตามแบบ ลค. 04 พร้อมสำเนา 1 ชุด
  • หนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลฉบับที่ชำรุด (กรณีที่หนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลความลับทางการชำรุดในสาระสำคัญ)
  • หลักฐานการแจ้งความว่าหนังสือรับรองสูญหาย (กรณีที่หนังสือการแจ้งข้อมูลความลับทางการค้าสูญหาย)

ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแจ้งข้อมูลหรือไม่

ผู้ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลความลับทางการค้า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น

มาตราการรักษาความลับทางการค้า

บริษัทหรือผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของข้อมูลความลับทางการค้า ควรจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาความลับทางการค้าที่อยู่ในการควบคุมดูแลของตนให้ปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นฉกฉวยนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะอาจจะส่งผลเสียตามมาในภายหลังได้ ในทางปฎิบัติผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลความลับทางการค้าอาจใช้มาตรการต่างๆ เพื่อนำมาจัดระบบการควบคุมดูแลข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าของตนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

  • ประทับตรา "ลับ" ลงในเอกสาร
  • มีระบบการตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลว่าอยู่ ณ ที่ใด เช่น มีการตรวจสอบชื่อเมื่อมีการนำเอกสารออกจากเขตกำหนด
  • เก็บรักษาไว้ในสถานที่ปลอดภัย เช่น ใช้กุญแจ หรือเก็บไว้ในตู้เซฟ
  • ห้ามพนักงานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • กำหนดไม่ให้มีการนำข้อมูลออกจากเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้
  • ระมัดระวังเมื่อมีการนำบุคคลภายนอกเข้าเยื่ยมชมสถานประกอบการ
  • หมั่นตรวจสอบข่าวสาร เอกสาร หรือบทความต่างๆ ว่ามีการอ้างอิงถึงความลับทางการค้าหรือไม่
  • ใช้การถอดรหัสในการเข้าถึงข้อมูลความลับ
  • กำหนดให้มีการทำลายเอกสารต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้อยู่เสมอ
  • ทำสัญญาห้ามเปิดเผยความลับทางการค้า โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ