การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี
การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี
- ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี ผลิตภัณฑ์ซีดี เป็นสื่อสำหรับบันทึกข้อมูล ซึ่งในระยะเริ่มแรกมีราคาแพงและเครื่องเล่นแผ่นซีดีก็มีราคาแพง จึงไม่เป็นที่นิยมของประชาชนมากนัก ต่อมาผู้ผลิตได้พัฒนาแผ่นซีดีให้มีราคาถูกลง มีคุณภาพสูงขึ้น ขนาดเล็กลง และเครื่องเล่นแผ่นซีดีราคาถูกลง ประชาชนจึงนิยมนำมาใช้บรรจุสื่อหลากหลายชนิด และมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ทดแทนการใช้เทป และวีดีโอเทป เนื่องจากสามารถบันทึกข้อมูล ภาพ และเสียงได้เป็นจำนวนมาก มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถตอบสนองการใช้งานได้หลายประเภท เช่นภาพยนตร์ เพลง เกมส์ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และงานฐานข้อมูล เป็นต้น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง มีกำลังการผลิตสูง โดยผลิตได้คราวละมากๆ หากนำไปผลิตซีดีละเมิดลิขสิทธิ์จะส่งผลทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จนอาจต้องเลิกกิจการ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว และนำรายได้ไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมายชนิดอื่นๆ ได้ต่อไป กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าควรมีมาตรการป้องกันและป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ซีดี จึงได้มีคำสั่งที่ 379/2542 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2542 และคำสั่งที่ 246/2543 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2543 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายควบคุมการผลิตซีดี และได้เสนอร่างกฎหมายการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 จากนั้นร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548
- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548 โดยที่ปัจจุบันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ซีดีได้ทวีความรุนแรงจนกระทั่งกลไกของรัฐที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะควบคุม หรือป้องปรามการละเมิดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรมีมาตรการกำกับดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี โดยการกำหนดขั้นตอนการแจ้งการผลิตสำหรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบการผลิต การครอบครองเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนการรายงานปริมาณและสถานที่เก็บวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างกลไกการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้นรวมทั้งจะทำให้การจัดเก็บภาษีอากรได้ผลเต็มที่ ทั้งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีดำเนินการผลิตสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
- มาตรการการกำกับดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี ตามพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548 พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีไว้ ดังนี้
- มาตรการกำกับดูแลเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี กำหนดให้ ผู้ได้มาหรือครอบครองเครื่องจักร มีหน้าที่ต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มาหรือครอบครองเครื่องจักรนั้น และกรณีที่มีจำหน่าย จ่าย โอน เครื่องจักร ต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำหน่าย จ่าย โอนเครื่องจักรนั้น เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดตามและตรวจสอบจำนวนเครื่องจักรและสถานที่ตั้งของเครื่องจักรได้
- มาตรการกำกับดูแลวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี (เม็ดพลาสติก) กำหนดให้ ผู้ได้มาหรือมีไว้ในครอบครองเม็ดพลาสติก ประเภทโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ชนิดออพติคอลเกรด (Optical Grade) ปริมาณตั้งแต่ 750 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี มีหน้าที่ต้องแจ้งการได้มาหรือมีไว้ในครอบครองถึงประเภท ชนิด ปริมาณ และสถานที่เก็บเม็ดพลาสติกนั้นต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มา หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดตามและตรวจสอบผู้ที่ได้มาหรือมีไว้ในครอบครองเม็ดพลาสติกดังกล่าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีได้
- มาตรการกำหนดให้มีเครื่องหมายรับรองบนผลิตภัณฑ์ซีดี
- เครื่องหมายรับรองการผลิต เป็นเครื่องหมายและรหัสที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่ผู้แจ้งทำการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี
- เครื่องหมายรับรองงานต้นแบบ เป็นเครื่องหมายและรหัสที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงงานที่ผลิตขึ้นเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์
- มาตรการกำกับดูแลการทำการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีของโรงงานผลิตซีดี ดีวีดีและแผ่นงานต้นแบบ
- กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี ก่อนจะเริ่มทำการผลิต มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือส่งโดยทางโทรสารในวันและเวลาราชการถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดก่อนเริ่มทำการผลิต
- กรณีที่ผู้ทำการมีสถานที่ผลิตมากกว่า 1 แห่ง ผู้ทำการผลิต มีหน้าที่ต้องแจ้งสถานที่ผลิตทุกแห่ง เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดตามและตรวจสอบสถานที่ทำการผลิตได้
- ในกรณีที่มีการย้ายสถานที่ผลิต ผู้ทำการผลิตมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่ย้ายสถานที่ผลิต วิธีการแจ้งดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ 3.4
- การผลิตแผ่นซีดีที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ทำการผลิตมีหน้าที่ต้องทำและแสดงเครื่องหมายรับรองการผลิตและแสดงเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบ ให้ปรากฏลงบนแผ่นงานต้นแบบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตงานที่มีลิขสิทธิ์ ส่วนการผลิตแผ่นซีดีเปล่า ผู้ทำการผลิตมีหน้าที่ต้องทำและแสดงเฉพาะเครื่องหมายรับรองการผลิต เนื่องจากแผ่นซีดีเปล่าไม่ปรากฎข้อมูลอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
- มาตรการกำกับดูแลการผลิตหรือว่าจ้างผลิตของเจ้าของลิขสิทธิ์
- กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งหมายรวมถึง ผู้รับโอนลิขสิทธิ์ หรือผู้รับอนุญาตให้ทำการผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย ที่จะทำการผลิต หรือว่าจ้างทำการผลิต มีหน้าที่ต้องแจ้งการทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิต ก่อนเริ่มทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตทุกครั้ง เว้นแต่การทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิต เพื่อใช้ในการศึกษา เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ
- กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีหน้าที่ต้องทำเครื่องรับรองงานต้นแบบ ให้ปรากฏลงบนแผ่นงานต้นแบบที่จะใช้ในการผลิต
- มาตรการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการตรวจสอบเครื่องจักร เม็ดพลาสติก หรือวัสดุอื่นใดที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด รวมตลอดถึงการให้บุคคลมาให้ถ้อยคำและส่งเอกสารที่อาจมีประโยชน์แก่การค้นพบ หรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำความผิด เพื่อให้มีการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายนี้
- มาตรการกำหนดให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือกระทำการฝ่าฝืนบทกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548 มีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา